29/7/62

Age of Empires 2: Age of Kings ควบคุมนำทัพอารยธรรมโบราณเข้าห้ำหั่นกันเพื่อชิงความเป็นหนึ่ง

Age of  Empires ถือเป็นเกมที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดในยุคนั้น เป็นเกมรุ่นพี่ของ Age of Mythology สองเกมนี้ถ้าจะพูดถึงในพุทธศักราชนี้มันก็คือตำนานแห่งเกมวางแผนการรบ RTS ไปเรียบร้อยแล้ว ถ้าเป็นคอเกมที่เกิดทันในยุค 90 น่าจะรู้จักและเคยผ่านตากันมาบ้างแล้ว ซึ่งไม่นานนี้ก็ได้มีเวอร์ชั่นรีมาสเตอร์ออกมาขายทาง Steam ทั้งภาค 1 และภาค 2 ในชื่อ Age of Empire 1 HD Edition และ Age of Empire 2: Definitive Edition


Age of Empire 2 เป็นเกมวางแผนการรบพัฒนาโดย Ensmble Studios และจัดจำหน่ายโดยทาง Microsoft ถือเป็นภาคที่ 2 ในเกมซีรี่ย์นี้ และยังมีภาคเสริมที่ปล่อยตัวในหนึ่งปีต่อมา ถือเป็นเกมวางแผนเรียลไทม์รุ่นแรกๆที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สงครามที่มีอยู่จริงนับพันปี ตั้งแต่สมัยยุคมืดที่มีการสู้รบแย่งชิงอำนาจกัน เป้าหมายของเกมคือ ต้องเก็บทรัพยากรแล้วสร้างฐานพัฒนาเทคโนโลยีให้เร็วและกำจัดศัตรูเพื่อนำชัยชนะมาสู่ฝ่ายเรา

เกมภาคเสริม Age of Kings พัฒนาเรื่องกราฟฟิคแบบ 2D ของภาค 2 ให้คมชัดขึ้น แต่ละฝ่ายจะมีอะไรใหม่ๆเพิ่มเข้ามา ระบบคนงานเก็บทรัพยากร หมอกสงคราม รายละเอียดบนแผนที่ซึ่งเราจะทำความคุ้นเคยได้ไม่ยากถ้าหากเคยเล่นเกมแนว RTS มาก่อน

ใน Age of Kings รูปแบบอาคารสถาปัตยกรรมจะมี 4 แบบ ยุโรปตะวันตก ยุโรปตะวันออก เอเชียตะวันออก และตะวันออกกลาง ตัวอาคารจะออกแบบมาอย่างประณีตสวยงาม ไม่เหมือนกับยูนิตหน่วยทหารที่หน้าตาคล้ายๆกัน แต่ก็ออกแบบมาดูดีใช้ได้เลย

การคุมยูนิตด้วยเมาส์ที่คุ้นเคยเป็นจุดที่ดีมากของเกม มีข้อความคอยบอกรายละเอียดอธิบายสิ่งต่างๆ ช่วยให้มือใหม่เล่นง่ายขึ้น เวลาเราเลือกยูนิตปนๆกันเกมจะมีระบบจัดแถวให้อัตโนมัติ ยูนิตแข็งแกร่งตัวชนป้องกันสูงจะได้อยู่แนวหน้า ตัวทำดาเมจความเสียหายจะไปอยู่ข้างหลังแทน ทำให้เราไม่ต้องเสียเวลามาจัดกองทัพมากมาย ทำให้มีเวลาคิดแผนบุกอีกฝั่งมากขึ้น จุดนี้ทำให้เล่นง่ายกว่าเกมวางแผนการรบ RTS เกมอื่นพอสมควร

เวลากำจัดทหารอีกฝั่งได้แล้วทหารเราจะโจมตีเป้าหมายอื่นเองโดยอัตโนมัติ ทำให้เรามีเวลาไปดูแลฐานของเราในส่วนอื่น ซึ่งเกมนี้มันให้อารมณ์ความรู้สึกเดียวกับที่เวลาเราเล่นเกมแนวสร้างบ้านสร้างเมือง เวลาที่เรามีอาคารบ้านเมือง ตึกต่างๆเต็มหน้าจอบมันทำให้เกิดฟีลลิ่งของความอบอุ่น ให้ความรู้สึกว่าเราเป็นผู้สร้างอย่างแท้จริง ได้ดูสิ่งที่ตัวเองทำมากับมือเจริญรุ่งเรืองขึ้น

แต่ข้อเสียของเกมอย่างที่ได้บอกไปแล้วคือยูนิตมันดูซ้ำๆกันทั้ง 13 ฝ่าย ถ้าคนขี้เบื่อมาเล่นคงจะเบื่อกันง่ายๆ แต่ถ้าใครที่ชอบเสพเนื้อเรื่องประวัติศาสตร์โบราณก็เล่นได้ยาวๆเลย ต้องยกเครดิตให้นักออกแบบเกมด้วยที่ทำให้ยูนิตแต่ละอย่างออกมาดูสวยงาม

เรื่องเสียงพากย์ในเกม แต่ละอารยธรรมจะพูดภาษาท้องถิ่น ภาษาบ้านเกิดแท้ๆช่วยสร้างความแตกต่างขึ้นมาอีกเล็กน้อย และมียูนิตพิเศษเฉพาะของแต่ละอารยธรรมช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างจักรวรรดิไบแซนไทน์ มีการป้องกันที่แข็งแกร่ง ยูนิตที่ใช้ต่อต้านทหารราบ พลธนู ทหารม้ามีราคาถูก ชาวเติร์กมีเทคโนโลยีวิจัยดินปืนที่ราคาถูกกว่าฝ่ายอื่น พวกนี้เป็นรายละเอียดเล็กน้อย จะใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นเวลาเล่นแต่ละอารธรรมได้คล่องแล้ว ตรงนี้เป็นข้อได้เปรียบของเกมที่ไม่ควรมองข้าม หากอยากเอาชนะศัตรูได้ง่ายขึ้น

เกม Age of Empires 2 ยังถูกวิจารย์ว่ามีความคล้ายเกม Warcraft 2 กับเกม Civilization ผสมผสานกัน เพิ่มด้วยฟีเจอร์ของเกมที่มีเทคโนยีเยอะแตกกิ่งก้านสาขาเป็นแผนผังใหญ่ๆ เวลาอัพเกรดฐานต้องเรียงลำดับไป ถ้าเทียบกับเกมสตาร์คราฟ Starcraft ตัวเกมยังมีทางเลือกที่ยืดหยุ่นมากกว่า

หากเจอกองทหารราบเยอะๆ เราก็แค่สร้างกำแพงโง่ๆขึ้นมาป้องกัน พลธนูใช้จัดการทหารม้าแต่จะยิงเครื่องจักรสงครามไม่ค่อยเข้า นักดาบจัดการพลหอกได้ชิวๆ แต่ระยะโจมตีของพลหอกไว้แก้ทางหน่วยทหารม้า เวลาหาทรัพยากรได้เราก็ต้องตัดสินใจว่าจะอัพเกรดเทคโนโลยีขั้นสูงหรือเอาไปผลิตยูนิตเสริมกำลังรบดีกว่า การบริหารทรัพยากรเป็นการตัดสินใจที่สำคัญในเกมประเภทวางแผนการรบทุกเกม

ตัวเกมมีโหมดให้เราเล่นหลายโหมด เล่นกับคอมที่มีระดับง่ายไปจนถึงยาก สู้กับ AI แผนที่รองรับสูงสุด 8 คน หรือจะสร้างแผนที่เองก็ได้ โหมด Deathmatch เริ่มเกมด้วยทรัพยากรมากมายเน้นปั๊มยูนิตมาสู้กัน

โหมดเนื้อเรื่องให้เราเล่นเป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ โจนออร์ฟอาร์ก จักรพรรดิฟรีดริช-บาร์บาร็อสซ เจงกิสข่าน ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์จริงๆ

ไม่ว่าจะเล่นเกม Age of Empires 2 โหมดไหน เราก็สนุกไปกับเกมได้ รายละเอียดทางประวัติศาสตร์เป็นตัวเสริมให้การเล่นเกมมีอรรถรสมากขึ้น ถ้าเป็นคนที่ชื่นชอบเกมแนวกลยุทธ์วางแผนการรบ RTS ในสไตล์คลาสสิคจำลองเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เป็นพิเศษจะเข้าใจได้เลยว่า ทำไมเกมนี้ถึงได้เครดิตมากมายจากปากผู้เล่นและนักวิจารย์หลายสำนัก จนบางครั้งที่เกมที่สร้างออกมาใหม่และระบบคล้ายกัน เราจะเรียกเกมนั้นว่า 'เกมแนว Age of Empires!'

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น